"เลาะแวแดนสกลฯ เฮียนฮู้บนฐานเกษตรศูนย์ภูพานฯ เบิ่งงานผลิตน้ำเม่า-ตรีผลา แนมป่าครอบครัวบะฮี-ท่าก้อน ลอนแผนพัฒนาชุมชนยั่งยืน" กับกิจกรรม Knowledge Base ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว ณ จังหวัดสกลนคร
ในวันที่ วันที่ 14 – 17 มกราคม 2563 กลุ่มกิจการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้การดำเนินงานของ สพภ. นำคณะพี่น้องชุมชนเครือข่ายฯ เดินทางไปศึกษาดูงานชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ / วิสาหกิจชุมชนแปรรูปน้ำผลไม้โนนหัวช้าง / กลุ่มป่าครอบครัวบะฮีต้นผึ้ง / วิสาหกิจชุมชนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งแต่ละวิสาหกิจเป็นเครือข่ายชุมชนต้นแบบของ สพภ. ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
โดยกิจกรรมหลักจะเป็นการฟังบรรยายและศึกษาดูงานการดำเนินกิจกรรมของแต่ละที่ อาทิ การดำเนินงานภาพรวมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ โดยทำหน้าที่เสมือนเป็น “พิพิธภัณฑ์ ธรรมชาติที่มีชีวิต”เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง สาธิต และการพัฒนาด้านเกษตรกรรมเป็นระบบบริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว สำหรับอบรมถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชนที่สนใจ โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า โดยมีแนวคิดกระตุ้นส่งเสริมให้คนรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้โดยอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรม แนวคิดการปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่างเป็นต้น การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า มีการจำลองพื้นที่เป็นสวนสัตว์ 60 ไร่ มีสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์ป่าสงวน เช่น เนื้อทราย หมูป่า ไก่ฟ้า เป็นต้น การพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน เน้นใช้หลักธรรมชาติแก้ไขปัญหาปรับปรุงอนุรักษ์ดินให้เหมาะสมสำหรับการเกษตรที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ การพัฒนาเกษตรกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมพืชสวนมีแปลงทดสอบพันธุ์ไม้ผลที่เหมาะสมกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ลิ้นจี่ นพ.1 ลำไยอีดอ ส้มโอ มังคุด เงาะ สะตอปักใต้ อะโวคาโด้ โกโก้ กิจกรรมพืชไร่ งานวิจัยศึกษา เช่น ศึกษาระบบการปลูกพืชไร่แบบยั่งยืนโดยใช้ระบบหมุนเวียน การศึกษาการใช้หญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในการปลูกพืชไร่บนพื้นที่ลาดเอียง การศึกษาพืชพลังงานทดแทน การปลูกพืชอาหารสัตว์ การศึกษาการควบคุมวัชพืชโดยใช้ชีววิธี กิจกรรมเพาะเห็ด ศึกษาและทดสอบหาวัสดุที่เหมาะสมในท้องถิ่นมาทำการเพาะเห็ด การเพาะเห็ดฟางข้าวและขี้เลื่อยยางพารา การเพาะเห็ด กิจกรรมศึกษาและพัฒนาระบบเกษตรผสมผสาน ได้แก่ งานศึกษาพัฒนาด้านข้าว การพัฒนาด้านปศุสัตว์ (กวางรูซ่าตัดเขา, สุกรภูพาน, ไก่ดำภูพาน, โคเนื้อภูพาน) การพัฒนาด้านประมง เป็นต้น
หลังจบการดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้เดินทางกันต่อไปยังวิสาหกิจชุมชนแปรรูปน้ำผลไม้โนนหัวช้าง ซึ่งคุณแม่ประรส วิศรียา เป็นประธานของวิสาหกิจ ซึ่งได้เล่าถึงความเป็นมาของการนำผลหมากเม่า มาทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดสกลนคร ก็ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง มีการพัฒนานำไปแปรรูปหลากหลายวิธี ทั้งน้ำเม่าพร้อมดื่ม น้ำเม่าสกัดเข้มข้น แยมเม่า ฯลฯ คุณประรส วิศรียา ยังคงมุ่งมั่นกับการต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม “เม่า” ด้วยความรู้ ด้วยประสบการณ์และมุมมองทางการตลาดที่แตกต่างไปจากผู้ผลิตรายอื่น ๆ
นอกจากนี้คณะชุมชนเครือข่ายได้ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ของ “เครือข่ายป่าครอบครัว” ต.บะฮี อ.พรรณานิคม โดยคุณพ่อเพชรพรรณ จันทรเกตุ ซึ่งนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้ และเครือข่ายป่าครอบครัวสกลนคร อาทิ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าครอบครัวของเครือข่ายป่าครอบครัวสกลนคร ตัวอย่างการใช้ประโยชน์ และอนุรักษ์ป่าเพื่อสร้างรายได้ บนฐานภูมิปัญญาและความพอเพียง การเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ ด้านสมุนไพร แก่นักศึกษาแพทย์แผนไทย การรวมตัวของครอบครัวและชุมชนเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวของตนเอง และดูแลรักษาให้มีสภาพป่า เพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียว
ก่อนที่จะเดินทางไปยังวิสาหกิจชุมชนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยคุณประวีณา ขันสำรอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กล่าวว่าทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูพืชพื้นบ้าน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ในจำนวนพืชพรรณที่นำมาอนุรักษ์มีพืชพรรณ ตระกูลหัว หรือตระกูลชิงข่า ว่าน ชนิดต่าง ๆ เป็นพืชที่ได้จากป่าครอบครัว ทั้งยังสามารถนำมายกระดับสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการใส่แพคเกจ ที่ดูสวยงามได้มาตรฐาน สามารถเก็บรักษาหัวพันธุ์ไว้ได้จนกว่าจะถึงฤดูกาลปลูก และ สามารถขนส่งได้ง่าย สะดวก นำไปเป็นของขวัญ ของฝาก ต่อยอดจาก พืชพรรณพื้นบ้านที่มีในท้องถิ่น ให้มีคุณค่าสู่สายตาคนเมือง ด้วยการนำไปทำไม้ดอกไม้ประดับประจำบ้านเรือน สถานที่ทำงาน เพราะส่วนมากจะเป็นไม้มงคล ทำเป็นไม้ตัดดอก เพื่อนำไปใช้ประดับตามงานต่าง ๆได้อีกด้วย สร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่า และการนำมาใช้ประโยชน์ และตอบแทนคืนสู่ธรรมชาติ










- January 18, 2020
- 2:01 am
- Taninnuch Lamjiak