ชุมชนกลุ่มสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์
ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์ ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2552 มีสมาชิก จำนวน 77 คน โดยมีการรวมกลุ่มปลูกผักพื้นบ้านภายใต้ระบบเกษตรอินทรีย์ ตามมาตรฐานแหล่งวัตถุดิบออร์เกนิค โดยมีแหล่งปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง โดยเฉพาะผักเชียงดา เริ่มจากเดิมชุมชนมีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลรักษาสุขภาพ อาทิเช่น รับประทานผักเชียงดาเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดเบาหวาน และความดัน จนทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ต่อมาจึงมีการรวมกลุ่มและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผักเชียงดา ที่มีคุณภาพและมาตรฐานรับรองทั้งในและต่างประเทศ อาทิ เช่น มาตรฐาน อย./USDA Organic อเมริกา/Organic Cannada/IFOAM มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยุโรป/มาตรฐานอาหารฮาลาล มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐานโรงเรือนการผลิต GMP และมีการแปรรูปรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ “กาทอง” เป็นที่พึงพอใจของลูกค้า โดยมีการจัดจำหน่ายทั่วประเทศและต่างประเทศ ทำให้ชุมชนมีรายได้ทางเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งวัตถุดิบผักพื้นบ้านที่ปลอดภัยภายใต้ระบบการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน
ทรัพยากรเด่นของชุมชน
ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านของภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในโครงการ “อนุรักษ์พันธุกรรมพืช” ในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผักเชียงดาเป็นไม้เลื้อย เถาแก่มีสีน้ำตาลใบสีเขียวแก่ รูปร่างใบแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เช่น รีขาว รีสั้น หรือเป็นรูปหัวใจ เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี สามารถแตกยอดไม้ตลอดปี ชาวเหนือนิยมนำมากินสดเคียงกับน้ำพริก ผัด หรือแกง เป็นผักที่มีรสชาติขมและหวานกำลังดี
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ปัจจุบันด้วยคุณสมบัติที่ดีต่อร่างกายของผักเชียงดาได้ถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาผักเชียงดา โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์ ของ “นางมุทิตา สุวรรณคำซาว” ซึ่งเป็นการร่วมกันปลูกพืชผักเชียงดาปลอดสารพิษและนำมาแปรรูปจำหน่ายในรูปแบบของชาสมุนไพร โดยกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ทั้งการค้นคว้าหาข้อมูลงานวิจัยที่ใช้สนับสนุนความรู้ด้านการเพาะปลูก ไปจนถึงการผลิตที่ได้มาตรฐาน ทำให้ได้ชาสมุนไพรที่มีคุณภาพสูง ในระดับที่สามารถส่งออกต่างประเทศ รวมไปถึงการได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช. ซึ่งออกโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในปี 2557 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรผักเชียงดาได้รับการยอมรับมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ
ได้รับมาตรฐาน อย./USDA Organic อเมริกา/Organic Canada/IFOAM มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยุโรป/มาตรฐานอาหารฮาลาล มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐานโรงเรือนการผลิต GMP และมีการแปรรูปรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ “กาทอง”
ช่องทางการติดต่อ
ผู้ประสานงาน
นางสาวญาณธิชา น้ำเพชร
089 – 8999546